Friday 18 April 2008

โรคเกาท์ (Gout) 3

โรคเก๊าท์ (Gout)

อ.นพ.สมบูรณ์ อินทราภาพร

โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง ร่วมกับมีอาการที่เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริกในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ การเกิดเก๊าท์มักต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าระดับกรดยูริกยิ่งสูง อุบัติการณ์ในการเกิดโรคจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และจะเกิดอาการได้เร็วยิ่งขึ้น ในเพศชายจะพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า แต่วัยหลังหมดประจำเดือนแล้วเพศหญิงจะมีความชุกของโรคสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพศชาย

โรคเก๊าท์มีอาการอย่างไร

จะเริ่มจากมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานก่อน โดยเฉลี่ยมักไม่น้อยกว่า 20 ปี การอักเสบของข้อครั้งแรกมักพบในผู้ป่วยชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 40-60 ปี แต่ในเพศหญิงมักพบหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ข้ออักเสบในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ จะมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน จากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง มักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า บ่อยครั้งที่เป็นในเวลากลางคืนขณะหลับ ระยะแรกข้ออักเสบมักเป็นไม่นาน 2-5 วัน บางรายมีไข้ได้ ในผู้สูงอายุบางครั้งอาจมีข้ออักเสบหลายข้อพร้อมกันโดยเฉพาะเป็นที่ข้อนิ้วมือ 2 ข้างตั้งแต่ระยะแรกของโรคซึ่งอาจได้ประวัติได้รับยาขับปัสสาวะร่วมด้วย หลังจากข้ออักเสบหายแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังไม่มีช่วงหายสนิท ระยะนี้มักพบตุ่มโทฟัส (tophus) ใต้ผิวหนัง ตามเนื้อเยื่อต่างๆรอบข้อ ระยะเวลาตั้งแต่ข้ออักเสบครั้งแรกจนถึงระยะนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 11.6 ปี แต่ถ้าเริ่มมีข้ออักเสบเป็นครั้งแรกในวัยสูงอายุ ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ข้ออักเสบครั้งแรกจนถึงระยะที่เกิดตุ่มโทฟัสจะสั้นลง คือมีแนวโน้มเกิดตุ่มโทฟัสเร็วและมักพบตามนิ้วมือแทนที่จะพบบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อศอก หรือข้อเข่าก่อน

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบหรือทำให้ข้ออักเสบหายช้าได้แก่อะไรบ้าง

ได้แก่ การได้รับยาบางชนิดเช่นยาลดกรดยูริก ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน เป็นต้น ดังนั้นไม่ควรเริ่มยาหรือปรับเปลี่ยนยาดังกล่าวขณะที่มีข้ออักเสบ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้นหรือหายช้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นได้แก่ การบาดเจ็บที่ข้อ การบีบนวดข้อ การดื่มแอลกอฮอล์ การผ่าตัด การเสียเลือด การเสียน้ำ และการติดเชื้อ เป็นต้น

จะดูแลรักษาอย่างไร

การรักษาในระยะที่มีการอักเสบของข้อ ควรพักการใช้งานของข้อนั้น หลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ การประคบข้อ และเริ่มรักษาโดยเร็วโดยใช้ยาลดการอักเสบของข้อ ปัจจุบันที่นิยมใช้มียาโคลชิซิน (colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาโคลชิซิน ขนาดยาที่ใช้ 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม ) รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือวันละ 2 เม็ดในวันต่อมา ( ทั้งนี้ขึ้นกับการทำงานของไต สำหรับผู้สูงอายุอาจต้องลดขนาดยาลงโดยเฉพาะในวันแรก ) ให้นาน 3-7 วันหรือจนกว่าการอักเสบของข้อจะหายดี ผลข้างเคียงคือท้องเดินหรือคลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการดังกล่าวให้หยุดยา สำหรับยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) สามารถให้ได้เช่นกัน ควรเลือกยาชนิดที่ค่าครึ่งชีวิตสั้น ออกฤทธิ์เร็ว จะให้ นาน 3-7 วัน หรือจนกว่าข้อที่อักเสบจะหายดี ข้อห้ามในการใช้ยาต้านการอักเสบคือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตบกพร่อง หรือมีโรคตับเป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องใช้จะต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับยูริกในระยะนี้เช่นผู้ป่วยที่ทานยาลดกรดยูริกในเลือดอยู่ไม่ควรให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือยังไม่ได้รับยาลดกรดยูริกมาก่อนแพทย์ไม่ควรเริ่มยาลดกรดยูริกในระยะนี้

การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำ

การป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำ ภายหลังจากข้ออักเสบหายแล้วถ้าผู้ป่วยมีข้ออักเสบเป็นซ้ำ อีกหลายครั้งใน 1 ปีจะแนะนำให้ทานยาโคลชิซินป้องกันโดยให้ขนาด 0.6-1.2 มิลลิกรัม / วัน จนกว่าตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส ระดับกรดยูริกในเลือดลงต่ำกว่า 4-5 มิลลิกรัม / เดซิลิตร และไม่มีข้ออักเสบเลยอย่างน้อย 3-6 เดือน

การรักษาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อไปละลายกรดยูริกหรือผลึกยูเรตที่อยู่ในข้อ, รอบๆข้อ, ตามตุ่มโทฟัส หรือตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ที่ไต โดยใช้ยาลดกรดยูริกในเลือดซึ่งขณะนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ยาเพิ่มการขับกรดยูริกทางไต และยาลดการสร้างกรดยูริก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชนิดใดนั้นขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลาหลายปี มีการตรวจเลือดเช็คระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ โดยเป้าหมายจะต้องให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 5.0-6.0 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

คำแนะนำอื่นๆ โรคเก๊าท์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่น ได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ ต้องลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัว ดื่มน้ำพอสมควร งดการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารนั้นผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่จำป็นต้องจำกัดอาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ หรือยอดผัก เพราะอาหารประเภทดังกล่าวมีผลทำให้เกิดข้ออักเสบได้น้อย ยกเว้นต้องจำกัดอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือไขมันเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรจะต้องได้รับการประเมินการทำงานของไตและนิ่วของทางเดินปัสสาวะเสมอ

No comments: