Friday 18 April 2008

โรคเก้าท์ [GOUT]

โรคเก้าท์เป็นโรคที่เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริคในเนื้อเยื่อและข้อต่าง ๆ เรามักจะพบในกลุ่มของผู้ที่กินดีอยู่ดี นอกจากนี้อาจจะพบในผู้ป่วยเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมักจะมีระดับของกรดยูริคสูงในเลือด ภาวะที่มีกรดยูริคสูงในเลือดไม่ใช่โรคเก้าท์แต่เรียกว่า "Hyperglycemia" จากการศึกษาพบว่าในประชากรทั่ว ๆ ไป ไม่มีอาการปวดข้อ พบภาวะ Hyperuricemia นี้ได้ถึง 5 - 13 % นอกจากนั้นยังพบว่าผู้มีภาวะนี้จะเกิดอาการของโรคเก้าท์ได้น้อยกว่า1 ใน 5 คน การที่มีภาวะ Hyperuricemia อาจจะเกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีสารที่ทำให้เกิดกรดยูริคสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และผักอ่อน ๆ ทั้งหลาย สำหรับอาหารไทย พบในผักที่รับประทานกับน้ำพริก เป็นต้น

มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรม และสภาวะแวดล้อมหลายประการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ การผลิต จนถึงการขับถ่ายกรดยูริค เช่น น้ำหนักตัวของผู้ป่วย ลักษณะความเป็นอยู่ อาหารการกิน ความเข้มข้นของเลือด เป็นต้น ประวัติการเกิดโรคเก้าท์ในครอบครัวพบได้ประมาณ 20 %

อาการแสดงของโรคเก้าท์ แบ่งได้ 3 แบบ คือ
1. ข้ออักเสบ มักพบที่บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า นอกจากนี้ยังพบบริเวณข้ออื่น ๆ ของเท้าได้บริเวณมือและแขน พบได้น้อยกว่า อาการแสดงครั้งแรกมักจะเป็นตอนกลางคืน บริเวณที่อักเสบจะมีอาการปวด บวม แดง และร้อนคล้าย ๆ กับจะเป็นหนอง มักจะมีไข้ร่วมด้วย และอาจจะมีอาการหนาวสั่น อาการอักเสบอาจจะเป็นมากจนทำให้เดินไม่ได้ แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการพักและ ยกส่วนอักเสบให้สูง ก็อาจจะหายได้เองประมาณ 3 - 10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาเลยก็ได้ หลังอาการอักเสบทุเลา ผิวหนังบริเวณที่เคยอักเสบอาจลอกเป็นแผ่น คล้ายกับหายเป็นหนอง สาเหตุที่เกี่ยวข้องและอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดข้ออักเสบคือ
ก. การได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุที่บริเวณนั้น ๆ และเนื่องจากอาการของข้ออักเสบ มักจะเกิดในข้อบริเวณเท้าดังได้กล่าวข้างต้น บางครั้งเพียงแต่ไปเดินหรือวิ่ง ผู้ป่วยไม่ได้ไปรับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บมา มีการออกกำลังกายมากเกินไปเท่านั้น ก็อาจเกิดอาการข้ออักเสบได้
ข. การได้รับยาบางประเภท
ค. การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริคสูง หรือดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
ง. อาการอักเสบซึ่งร่วมกับการเจ็บป่วยบางอย่าง
จ.อาการอักเสบของข้อ หลังจากการผ่าตัดในบริเวณอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อนั้น ๆ
2.การเป็นก้อนเนื้อจากโรคเก้าท์ [ TOPHUS ]
ก้อนเนื้อนี้เป็นการรวมตัวกันของเกลือกรดยูริคซึ่งมักจะพบได้หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบครั้งแรกมาแล้วเป็นเวลานาน โดยทั่ว ๆ ไปประมาณ 10 ปี มักจะพบก้อนเนื้อนี้ได้บริเวณหลังข้อศอก ที่บริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย ที่บริเวณมือทั้งหลังมือและฝ่ามือ ที่บริเวณติ่งหู เป็นต้น บางครั้งก้อนเนื้อนี้จะแตกออก และมีน้ำสีขาวข้นลักษณะเหมือนยาสีฟันไหลออกมา ซึ่งในการรักษาตัวเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น คือการให้ยารักษาแผล ป้องกันการติดเชื้อ และบางครั้งอาจจะต้องทำการผ่าตัดรักษาเลย

3. โรคเก้าท์ที่เกี่ยวข้องกับไต อาจจะพบภาวะการขับโปรตีนทางปัสสาวะ ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงในโรคไตที่เกี่ยวข้องกับโรคเก้าท์ได้ ในกรณีที่โรคทวีความรุนแรงขึ้น อาจพบว่าเป็นโรคนิ่วในไต ไตอักเสบอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงมาก อุบัติการของการเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะมีสูงในผู้ป่วยโรคเก้าท์
โรคแทรกซ้อนจากโรคเก้าท์
ในรายที่เป็นโรคเก้าท์อยู่เป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจจะนำไปสู่ภาวะผิดปกติ เช่น
- เบาหวาน
- โรคหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งถ้าเป็นในบริเวณหัวใจ หรือสมองก็จะทำให้เกิดอันตรายได้มาก
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไตชนิดต่าง ๆ
การรักษา
ส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาคือ การให้ความรู้เรื่องโรคเก้าท์ต่อผู้ป่วยและญาติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดข้ออักเสบขึ้นบ่อย ๆ หรือเกิดก้อนเนื้อจากโรคเก้าท์ [ Tophus ]
ก. การปฏิบัติตัว โดยการเปลี่ยนกิจวัตรประจำ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดข้ออักเสบ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารกรดยูริคสูง การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย บางประเภท การลดน้ำหนัก ซึ่งจะทำให้ลดระดับเกลือกรดยูริคในเลือด หรือการงดใช้ยาบางประเภทที่ทำให้ข้ออักเสบได้บ่อย
ข.การให้ยา เช่น ยาลดอาการอักเสบ
ค.การให้ยาเพื่อเร่งการขับถ่ายเกลือกรดยูริค ออกทางปัสสาวะ
ง.การให้ยาที่ลดการสร้างเกลือกรดยูริคในร่างกาย
ยาตามข้อ ก. และ ง. จะทำให้ระดับเกลือกรดยูริคในเลือดลดลง ทำให้อุบัติการการเกิดข้ออักเสบจะลดลง

พลตรี นายแพทย์ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล

No comments: