Friday 18 April 2008

โรคเกาท์ (Gout)

โรคเกาท์

ลักษณะทั่วไป

โรคเกาท์เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่น้อย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9-10 เท่า ส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

สาเหตุ

เกิดจากร่างกายมีกรดยูริก (uric acid) มากเกินไป กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารเพียวรีน (purine ซึ่งมีมากในเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ พืชผัก หน่ออ่อนหรือยอดอ่อน) และการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกไปทางไต แต่ถ้าหากว่าร่างกายมีการสร้างกรดยูริก มากเกินไป หรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลงก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ผู้ป่วยส่วนมากมีสาเหตุจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป เนื่องจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ จึงมักพบมีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วยส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคทาลัสซีเมีย, มะเร็งในเม็ดเลือดขาว , การใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น หรือ อาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลงเช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ , ผลจากการใช้ยาไทอาไซด์ เป็นต้น

อาการ

มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะ คือ ขณะที่อาการเริ่มทุเลาผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอก และคันผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มเหล้าหรือเบียร์ (ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง) หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด บางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วย สาเหตุอื่น บางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น (ชีพจรเต้นเร็ว) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน (แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง) ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรก ๆ อาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้งและระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กลายเป็น 7-14 วันจนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือนิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ ในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่นข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus/tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาว ๆ คล้ายช็อล์ก หรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่าง ๆ จะค่อย ๆ พิการและใช้งานไม่ได้

สิ่งตรวจพบ

ข้อที่ปวดมีลักษณะบวมแดงร้อน อาจมีไข้ร่วมด้วย บางคนอาจมีตตุ่มโทฟัส

อาการแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจกลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง , โรคหัวใจขาดเลือด,นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณ 25%), ภาวะไตวาย

การรักษา

  1. ถ้ามีอาการชัดเจน ให้ยาเม็ดคอลชิซีน (Colchicine) ขนาด 0.5 มิลลิกรัม ครั้งแรกให้ 1-2 เม็ดแล้วให้ ซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ดทุก 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 8 ชั่วโมง แล้วให้เป็น 1 เม็ดทุก 2 ชั่วโมง จนกว่าจะหายปวด แต่ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดิน ซึ่งเกิดจากพิษของยาก็ให้หยุดยาเสีย โดยทั่วไปจะให้ได้ประมาณ 8-20 เม็ด และอาการปวดข้อจะหายใน 24-72 ชั่วโมง ถ้ามีอาการท้องเดินให้กินยาแก้ท้องเดิน ถ้าไม่มีคอลชิซีน อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน หรือ ไอบูโพรเฟน ครั้งแรกให้ 2 เม็ด แล้วให้ 1 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าจะหาย แต่ไม่ควรให้นานกว่า 3 วัน และควรกินยาลดกรด ควบด้วยควรให้ผู้ป่วยนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ ใช้น้ำร้อนประคบข้อที่ปวด และลดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เมื่ออาการทุเลาแล้วควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งมักจะให้การดูแลรักษาต่อไป ดังในข้อ 2
  2. ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการไม่ชัดเจนควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเจาะเลือดหาระดับของกรดยูริกในเลือด (ค่าปกติเท่ากับ 3-7 มิลลิกรัมต่อเลือด 100มล.) และตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าจำเป็นควรให้ยารักษาแบบเดียวกับข้อ 1 ถ้าไม่ได้ผลอาจให้สเตอรอยด์ระหว่างที่ไม่มีอาการปวดข้อควรให้ คอลชิซีน วันละ 1-2 เม็ด กินเป็นประจำเพื่อป้องกันมิให้ข้ออักเสบกำเริบรุนแรง และให้ยาลดกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่ 2 ชนิด ได้แก่
    1. ยาขับกรดยูริก เช่นยาเม็ดโพรเบเนซิด (Probenecid) 1-2 เม็ดต่อวัน ผู้ป่วยที่กินยานี้ ควรดื่มน้ำมากๆ(ประมาณวันละ 3 ลิตร) เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไตเนื่องจากการตกตะกอนของกรดยูริก ยานี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต หรือมีภาวะไตวายนอกจากนี้ผู้ที่กินยานี้ ไม่ควรกินแอสไพริน เพราะจะทำให้ฤทธิ์ในการขับกรดยูริกลดน้อยลง
    2. ยาลดการสร้างกรดยูริก เช่น ยาเม็ดอัลโลพูรินอล (Allopurinol) ขนาดเม็ดละ100 มิลลิกรัม วันละ 2-3 เม็ด ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้ยารุนแรงได้ (ถ้ากินแล้วมีอาการคันตามตัว ควรหยุดยาทันที) และอาจทำให้ตับอักเสบได้ การให้ยาลดกรดยูริก จะเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ซึ่งจะให้ผู้ป่วยกินเป็นประจำทุกวันตลอดชีวิต จะช่วยให้สารยูริกที่สะสมตามข้อ และอวัยวะต่าง ๆ ละลายหายไปได้ รวมทั้งตุ่มโทฟัสจะยุบหายไปในที่สุด ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ก็ไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และเครื่องในสัตว์อย่างเคร่งครัดสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของยาที่ใช้ควรนัดผู้ป่วยไปตรวจเลือด ตรวจหาระดับกรดยูริกในเลือดเป็นระยะๆ

ข้อแนะนำ

  1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา มักมีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่าได้ขาด ควรกินยาตามแพทย์สั่งไปตลอดชีวิตและหมั่นตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ
  2. ในรายที่มีเพียงกรดยูริกในเลือดสูง โดยไม่มีอาการปวดข้อ หรืออาการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องให้ยารักษา ยกเว้นถ้ามีระดับของกรดยูริกสูงเกิน 12 มิลลิกรัมต่อเลือด100 มล. ก็ควรกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ
  3. ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
    1. ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทุกวัน (อย่างน้อยวันละ 3 ลิตร) เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต
    2. ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ อาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์รวดเร็วและมีการสร้างกรดยูริก ทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้
    3. ขณะที่มีอาการปวดข้อ ควรงดเหล้า เบียร์ และอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด กะปิ น้ำสกัดจากเนื้อ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อกระต่าย กุ้ง หอยกุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเป็ด เนื้อห่าน เนื้อไก่ เนื้อไก่งวง ปลาซาร์ดีน ไข่แมงดา ชะเอม กระถิน แตงกวา หน่อไม้ แอสปารากัส เห็ด ดอกกะหล่ำ ถั่วต่างๆ ถั่วงอกยอดแค ดอกสะเดา สาหร่าย ยอดผักต่าง ๆ เป็นต้น (แต่ถ้าไม่มีอาการปวดข้อ และกินยาลดกรดยูริกอยู่เป็นประจำ ก็ไม่ต้องงดอาหารเหล่านี้อย่างเคร่งครัด)
    4. ยาบางชนิดอาจมีผลต่อการรักษาโรคนี้ เช่น แอสไพริน หรือยาขับปัสสาวะ ไทอาไซด์ อาจทำให้ร่างกายขับกรดยูริกได้น้อยลง ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยา
  4. ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์ ควรตรวจเช็กเลือดเป็นระยะรายละเอียดผู้ป่วยโรคเกาต์ ถ้ากินยาทุกวัน สามารถกินอาหารได้เช่นคนปกติ

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเกาท์

โรคเกาท์เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติในการใช้สารพวกพิวรีน ทำให้เกิดสารยูริคสูงในเลือด และจะสะสมในข้อโดยเฉพาะข้อเล็กๆเช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน ในข้อการใช้ยารักษาโรคเกาท์จะช่วยทำให้อาการของโรคดีขึ้นและช่วยขับกรดยูริค ออกจากร่างกาย แต่การทานอาหารที่ถูกต้องจะช่วยบรรเทาให้อาการลดลง และไม่กำเริบบ่อย หลักในการจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ มีดังนี้

  • ทานอาหารที่มีพิวรีนน้อยหรือไม่มีพิวรีน ได้แก่ นม ไข่ ฯลฯงดเว้นอาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาซาร์ดีน ฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนปานกลาง เช่น สัตว์ปีก
  • อาหารทะเลอาหารที่ปรุงไม่ควรใส่ผงชูรส หลีกเลี่ยง
  • อาหารทอด น้ำต้มเนื้อ เช่นก๊วยเตี๋ยวน้ำ
  • อาหารพิวรีนมาก(50 – 150 มก./อาหาร 100 กรัม)
  • อาหารพิวรีนปานกลาง (มากกว่า 15 มก./อาหาร 100 กรัม)
  • อาหารพิวรีนน้อย(0 – 15 มก./อาหาร 100 กรัม)
  • ตับอ่อน ตับ ไต มันสมอง
  • ปลาแอนโชวี่ ปลาซาร์ดีน
  • น้ำต้มเนื้อ
  • น้ำเกรวี่หรือซุบไก่ เนื้อสัตว์ ปลา
  • อาหารทะเล
  • หน่อไม้ฝรั่ง
  • ผักโขมดอกกระหล่ำ
  • ข้าวไม่ขัดขาว
  • น้ำตาลและขนมหวาน
  • ในคนที่อ้วนควรลดน้ำหนักโดยทานอาหารให้มีพลังงานต่ำประมาณวันละ 1,200 – 1,500 แคลอรี
  • ควรจำกัดอาหารที่มีไขมันสูงเพราะอาจกระตุ้นให้ อาการกำเริบได้
  • ควรงดเครื่องดื่มพวกโกโก ช็อคโกแลต
  • ควรทานนมพร่องมันเนยงดการดื่มสุราส่วนกาแฟอาจทานได้บ้างพอประมาณ
  • ควรทานผักใบเขียวที่มีธาตุเหล็กสูง เพื่อทดแทนธาตุเหล็กที่ขาดเนื่องจากการงดทานเนื้อสัตว์

โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
ที่มา : www.labonline.com

No comments: